เนื้อความ :
ด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ องค์การส่งเสริมวิชาการแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Society for the Promotion of Science, JSPS) ได้มีข้อตกลงให้มีความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทย – ญี่ปุ่น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยไทยและนักวิจัยญี่ปุ่นได้มีโอกาสทำการวิจัยร่วมกัน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางการวิจัยในสาขาวิชาการต่าง ๆ ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยไทย ซึ่งในช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมานั้นมีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชีย การยกระดับของนักวิจัยและความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคเดียวกันและกับภูมิภาคอื่นนั้นเริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจน การขับเคลื่อนให้รุดหน้าไปในแนวทางนี้จะนำไปสู่การสร้างประชาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ซึ่งต้องอาศัยการสร้างเครือข่ายอันเข้มแข็งระหว่างประเทศในภูมิภาค
JSPS ได้ริเริ่มการจัดการประชุม HOPE Meeting โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ซึ่งจะส่งผลสำคัญในการส่งเสริมความสามารถของนักวิจัยรุ่นเยาว์ ให้มีทรรศนะที่เปิดกว้าง และสามารถพัฒนาความสามารถทางการวิจัยในระดับสูงได้ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมและเปิดโอกาสให้แก่บัณฑิตศึกษาในภูมิภาคในการสร้างเครือข่าย และได้แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากทั่วโลก
โดยในปี 2567 จะเป็นการประชุม HOPE Meeting ครั้งที่ 15 ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2567 ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
กิจกรรมภายใต้การประชุม 1. การบรรยายโดยผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล นักวิจัยผู้มีชื่อเสียง และหน่วยงานด้านวัฒนธรรม 2. การอภิปรายกลุ่มย่อยกับวิทยากร (รูปแบบการสัมมนา) 3. การนำเสนอผลงานภาคโปสเตอร์ และการนำเสนอปากเปล่าเป็นเวลา 1 นาที (ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ทุกคนจะต้องนำเสนอปากเปล่า) 4. การนำเสนอผลงานแบบกลุ่มนานาชาติ (Oral presentations by multinational participant teams) 5. การเรียนรู้ประสบการณ์ทางวัฒนธรรม 6. การศึกษาดูงาน (ศูนย์วิจัยและมรดกทางประวัติศาสตร์)
งบประมาณ JSPS จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังนี้ - ค่าที่พักในเมืองเกียวโต ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ –1 มีนาคม 2567 - ค่าอาหาร (นับตั้งแต่มื้อเย็นของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึง มื้อเช้าของวันที่ 2 มีนาคม 2567) และการเดินทางระหว่างสนามบินคันไซ/โอซาก้า กับโรงแรม/สถานที่จัดการประชุม - การประกันการเดินทางในช่วงการประชุม (25 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2567) วช. จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังนี้ - ค่าตั๋วเครื่องบินโดยสารระหว่างประเทศสำหรับผู้ได้รับการเสนอชื่อจากประเทศไทยให้เข้าร่วมการประชุม
จำนวนนักวิจัยไทยที่จะได้รับการเสนอชื่อเข้าร่วมประชุม - จำนวน 4 ราย
การส่งเอกสารประกอบการสมัคร วช. จะพิจารณาใบสมัครที่ได้รับการเสนอชื่อจากทางมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานต้นสังกัดของนักศึกษาหรือนักวิจัยเท่านั้น ทั้งนี้ วช. ขอสงวนสิทธิ์ไม่รับการพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครที่ส่งใบสมัครมายัง วช.โดยตรง และขอให้ผู้สมัครจัดส่งเอกสารฉบับจริงไปยังกลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และจัดส่งเอกสารฉบับสำเนาไปทางอีเมล irr@nrct.go.th ภายในวันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2566 ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของการรับสมัคร โดยจะถือเอาวันที่ที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติลงตราประทับรับเอกสารเป็นสำคัญ ภายในเวลา 16.30 น. เท่านั้น หากพ้นกำหนดดังกล่าว วช. จะไม่รับพิจารณาไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น และผลการพิจารณาของ วช. ถือเป็นที่สิ้นสุด
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โทร 02-5612445 ต่อ 211 อีเมล irr@nrct.go.th
|